messager
check_circle สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
ประวัติความเป็นมาตำบลภูแล่นช้าง
ชาวภูแล่นช้างอพยพมาจากเมืองเซโปนฝั่งตะวันออกประเทศลาว ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๔อพยพครั้งแรกประมาณ ๒๐ ครัวเรือน ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งลำน้ำห้วยขามตอนใต้ ระหว่างบ้านโพนสวางกับ บ้านโนนศาลา ปัจจุบันนี้ให้ชื่อว่า “บ้านท่าไค้” ท้าวบุตรโคตรผู้เป็นหัวหน้าบ้านท่าไค้ ได้จัดส่งชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง ไปตั้งบ้านเรือนสำรองใกล้เชิงเขาภูแดนช้าง ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้าน ทำเป็นกระท่อมนาภาษาท้องถิ่นนี้เรียกว่า“เถียงนา”ทำรวมกันเป็นหมู่ๆเพื่อป้องกันช้างป่าจะมาทำร้ายพืชพันธ์และจะได้ช่วยกันทันอย่างรวดเร็ว ต่อมาคนทั้งหลายเรียกกันว่า“บ้านเถียงนาชุม”และชายฉกรรจ์เหล่านั้นได้ทำเครื่องสัญญาณติดต่อกันโดยทำไม้เป็นแผ่นผูกแขวนไว้ที่กระท่อมของตนเพื่อตีสัญญาณส่งต่อกันเป็นทอดๆไป เมื่อเวลาช้างป่าเข้ามาเรียกกันว่า “เกาะลอยหรือกระลอ” ช้างป่าก็เริ่มถอยห่างไปเรื่อยๆ ประมาณปี ๒๕๓๘ ได้ย้ายบ้านเรือนมาตั้งอยู่เชิงเขาแดนช้าง (บ้านเถียงนาชุม) เชิงเขาแห่งนี้เป็นแดนหากินของช้างป่าอยู่ก่อน - ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีลำน้ำห้วยขามและห้วยโป่ง ห่างหมู่บ้าน ๑ กิโลเมตร - ด้านทิศใต้ของหมู่บ้านมีหนองขามเฒ่าและลำพะยัง ห่างหมู่บ้านประมาณ ๒ กิโลเมตร - ตอนใต้ลงไปอีกมีห้วยแสง ห้วยน้ำปุ้น ห่างหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นทำเลทำการเกษตรอย่างดี จึงตั้งชื่อว่า “บ้านนาคลอง” สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีโคตรหลักคำและพรหมดวงสี ท้าวเพียเมืองวังไม่พอใจจะทำราชการกับเจ้าเมืองวัง จึงอพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำโขงมายังฝั่งตะวันตกพักอาศัยอยู่เชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันตก ขณะนั้นมีหมู่บ้านเป็นหลักอยู่ ๓ หมู่บ้าน คือบ้านนาขาม บ้านนาคู บ้านนาคลอง ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ครองราชย์สมบัติเมืองเวียงจันทร์ เป็นประเทศราชขึ้นต่อกับกรุงเทพฯ ท้าวเพียทั้งสองลงไปเฝ้าสวามิภักดิ์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอตั้งอยู่บ้านนาคลอง เมื่อเท้าบุตรโคตรหัวหน้าหมู่บ้านคนเดิมถึงแก่กรรมแล้วโคตรหลักคำได้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน จึงเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านภูแดนช้าง”ต่อมาเรียกเพี้ยนมาเป็น “บ้านภูแล่นช้าง” ศาลปู่ตา(ศาลเจ้าปู่) เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนในตำบลและใกล้เคียงพากันนำข้าวปลาอาหารมาถวาย บูชากราบไหว้ เพื่อเป็นศิริมงคล และมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัย ๑๖๐ปีที่แล้ว ตอนตั้งบ้านภูแล่นช้างใหม่
ประวัติเทศบาลตำบลภูแล่นช้าง
เทศบาลตำบลภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ที่ – หมู่ที่ ๖บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง อำเภอนาคูจังหวัดกาฬสินธุ์ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะจากสภาตำบลภูแล่นช้างเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลภูแล่นช้าง ให้มีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลภูแล่นช้าง หมู่บ้านละ ๒ คน มาจากการเลือกตั้ง และยังให้กำนัน,ผู้ใหญ่บ้านและแพทย์ประจำตำบล เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโดยตำแหน่ง และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลภูแล่นช้างเป็นเทศบาลตำบลภูแล่นช้าง เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ซึ่งได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลภูแล่นช้างตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
คำขวัญ
คำขวัญประจำตำบล “ภูแล่นช้างเมืองตำนาน ภูพานบ่อน้ำแร่ ศาลเจ้าแม่ย่าเบ้า รอยไดโนเสาร์ล้านปี ประเพณีบุญบั้งไฟ เลื่องลือไกลเจ้าปู่ตา ร่วมศรัทธาองค์สัมฤทธิ์”
ข้อมูลโดยทั่วไป
ตำบลภูแล่นช้างอยู่ในเขตกิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอนาคูประมาณ ๑๔ กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร - ทิศเหนือ ติดต่อตำบลโนนจาน กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ - ทิศใต้ ติดต่อตำบลไคนุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ - ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลกุดสิมคุ้มใหม่ อำเภอเขาวง และตำบลเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ - ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลไคนุ่น และตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
เนื้อที่
ตำบลภูแล่นช้าง มี ๑๐ หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๔๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๖,๒๕๐ ไร่
ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลภูแล่นช้างมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา ดินเป็นดินปนทราย มีลำห้วยไหลผ่าน ๔ สาย คือ ลำน้ำพะยัง ลำห้วยขาม ลำห้วยบอง และลำห้วยสาวเอ้ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร
วิสัยทัศน์การพัฒนาเทศบาลตำบลภูแล่นช้าง
“ภูแล่นช้างเมืองน่าอยู่ ควบคู่คุณธรรม ก้าวนำการศึกษาเทคโนโลยี รักษาประเพณี วิถีเกษตรอุตสาหกรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ”